ไมโครลิสซิ่ง "ชูปีเสือทอง" เร่งปั๊มพอร์ตสินเชื่อปีนี้แตะ 5,000 ล้านบาท ลุยเปิด 4 - 8 สาขาใหม่ รุกสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ เสริมแกร่งธุรกิจ
บมจ.ไมโครลิสซิ่ง หรือ MICRO" ยิ้มรับเปิดต้นปี 65 ยอดสินเชื่อใหม่พุ่ง วางเป้าโต 50% แตะ 3.3 พันล้านบาท หนุนพอร์ตคงค้างขยายตัว 30% ยืนเหนือ 5,000 ล้านบาท คุมเข้ม NPL ต่ำกว่า 3% เผยยอดปล่อยสินเชื่อ 2 เดือนแรกปีนี้ทำได้แล้วกว่า 400 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายสาขาใหม่เพิ่ม 4-8 แห่ง ล่าสุดตั้งบริษัทร่วมทุน "ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด" รุกสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์-ขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ เสริมแกร่งธุรกิจ
นายวิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง และสินเชื่อประเภทอื่นที่มีรถบรรทุกมือสองเป็นหลักประกัน เปิดเผยถึง ภาพรวมสถานการณ์รถบรรทุกสิบล้อในปี 2565 มองความต้องการใช้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปีก่อน หลักๆ เป็นผลมาจากความต้องการใช้รถบรรทุกในการขนส่งสินค้า และโดยเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับงานรับเหมาก่อสร้าง เพราะเข้าช่วงการเบิกใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 ของภาครัฐ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่อัดฉีดเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยภาพรวมการปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาส 1/2565 จะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 4/2564 ที่ทำได้ประมาณกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมองว่าความต้องการสินเชื่อรถบรรทุกมือสองในงานก่อสร้าง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มลูกค้าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของพอร์ตรวม และจะยังคงระดับพอร์ตให้ใกล้เคียงเดิม เพราะมองว่างานก่อสร้างมีช่วงไฮซีซั่น พอเข้าฤดูฝนงานจะชะลอตัวอาจกระทบกับยอดเรียกชำระในอนาคตได้ ทั้งนี้พอร์ตส่วนใหญ่มากกว่า 50% ยังเป็นกลุ่มลูกค้าโลจิสติกส์ และสัดส่วนอีก 10% เป็นส่วนของลูกค้าเกษตรกร เป็นต้น
ขณะที่แผนการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทวางเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Loan) โตไม่ต่ำกว่า 35 - 50% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3,000 - 3,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินเชื่อรถบรรทุกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นทำให้คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างในปี 2565 จะเติบโตไม่น้อยกว่า 25 - 30% จากปีก่อน หรือเพิ่มเป็น 4,700 - 5,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกันบริษัทวางเป้าหมายบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เฉลี่ยไม่เกิน 3% ภายในปี 2565 ซึ่งในปีที่ผ่านมาทำได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง 3.5% โดยในกลุ่มธุรกิจใกล้เคียงที่สินเชื่อส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกมือหนึ่งและลูกค้านิติบุคคลมีหนี้ NPL เฉลี่ยในปีที่ผ่านอยู่ในช่วงใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถบริหารจัดการคุณภาพหนี้ได้ค่อนข้างดีทั้งที่หลักประกันและลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่า (รถมือสอง 100% และลูกค้ารายย่อย 90%) และในปีนี้บริษัทวางแผนจะขยายสาขาใหม่อย่างน้อย 4 สาขา และมากที่สุดประมาณ 6-8 สาขา ส่งผลให้ภายในสิ้นปีนี้บริษัทจะมีสาขาเปิดให้บริการเป็นกว่า 23-27 สาขา โดยการขยายฐานลูกค้านั้นบริษัทยังคงมุ่งเน้นในพื้นที่เป้าหมายที่มีผู้ประกอบการขายรถบรรทุกมือสอง และพื้นที่ที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมขนส่งและก่อสร้างสูง คือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคเหนือ
"กลยุทธ์การขยายสาขา เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ MICRO สามารถกระจายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าได้ทั่วประเทศมากขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีสาขาจำนวน 19 สาขา ภายในปี 2565 ตั้งเป้าขยายสาขากว่า 4- 8 สาขา โดยในเดือนมี.ค.นี้เตรียมเปิดสาขาที่ 20 ที่จ.สุโขทัย และปลายเดือนมี.ค. หรือต้นเดือนเม.ย. เตรียมเปิดสาขาที่ 21 ที่จ.ระยอง พร้อมขยายสาขาเพิ่มอีกในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และเขตปริมณฑล เล็งจังหวัดที่มีศักยภาพการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มเต็นท์รถบรรทุกมือสอง เน้นขยายไปยังพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ของการขยายเศรษฐกิจในประเทศ" นายวิศาลท์ กล่าว
พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีความสนใจแตกไลน์การให้บริการสินเชื่อใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายโอกาสต่อยอดจากพอร์ตเช่าซื้อ (Hire Purchase) ล่าสุดบอร์ดอนุมัติจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ชื่อบริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจสินเชื่อช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดย MICRO ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ของทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท และกลุ่มนายธรรมศักดิ์ อัชญาวัฒน์ และพันธมิตร ถือหุ้นในสัดส่วน 30% และกลุ่มนายทวีพล เจริญกิตติคุณไพศาลและพันธมิตรถือหุ้น ในสัดส่วน 19% โดยคาดว่าจะดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.2565
"การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเพื่อสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ และลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และเพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ ได้ในวงกว้าง ส่งผลต่อบริษัทย่อยอื่นๆสามารถนำฐานลูกค้ามาต่อยอดในการสร้างรายได้ในแต่ละธุรกิจ รวมทั้งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมได้ เช่น ประกันรถจักรยานยนต์ หรือสินเชื่อ NANO Finance เป็นต้น และยังเป็นรากฐานในการก่อให้เกิดพลังผนึก (Synergy) ระหว่างบริษัทในเครือและนำไปสู่ระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystem) ที่สมบูรณ์ในอนาคต" นายวิศาลท์ กล่าว
ด้านบริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตนั้น ทางบริษัทได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคลทั้งสองผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปีก่อน และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งสามารถรับรู้เป็นรายได้เข้ามาในทันที โดยกลยุทธ์นั้นบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าเดิม ซึ่งปกติลูกค้าที่เข้ามาต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 ราย มองว่าธุรกิจนายหน้าประกันเป็นอีกธุรกิจที่มีความน่าสนใจ และจะเข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการให้บริการสินเชื่อได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ส่วนธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน และสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน และคาดว่าจะเปิดให้บริการและรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงไตรมาส 3/2565 เป็นต้นไป มองว่าธุรกิจนี้จะสามารถต่อยอดกลุ่มธุรกิจสินเชื่อรถบรรทุกมือสองได้ครบวงจรยิ่งขึ้น